เดิมนิตยสารดุลพาห จัดทำโดยกระทรวงยุติธรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ใช้ชื่อว่า "ดุลพาห (นิตยสารกระทรวงยุติธรรม)" เพื่อเผยแพร่วิทยาการด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านกฎหมาย
รวมถึงวิทยาการแขนงอื่นๆ ที่ผู้พิพากษาและข้าราชการกระทรวงยุติธรรม ควรทราบเป็นความรู้ และแถลงข่าวการศาลยุติธรรมและการกฎหมายทั่วไป ต่อมารัฐธรรมนูญ
แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ แยกศาลยุติธรรมออกจากกระทรวงยุติธรรม ศาลยุติธรรมมีหน่วยงานธุรการที่เป็นอิสระ และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม
พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๕ บัญญัติให้มีสำนักงานศาลยุติธรรม มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๓ นิตยสารดุลพาห ตั้งแต่เล่ม ๑ ปีที่ ๔๘ มกราคม - เมษายน ๒๕๔๔
จึงอยู่ภายใต้การจัดทำของสำนักงานศาลยุติธรรมมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน และมีการใช้ชื่อว่า "ดุลพาห นิตยสารสำนักงานศาลยุติธรรม" แต่นั้นมา
.
.
ด้วยกระทรวงยุติธรรมได้พิจารณาเห็นว่า วิธีการออกหนังสือ“นิตยสารกระทรวงยุติธรรม” ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2495 นั้นเป็นวิธีการที่มีประโยชน์แก่ข้าราชการในกระทรวงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ผู้พิพากษาตุลาการ เพราะนอกจากจะอำนวยวิชาความรู้ให้โดยสม่ำเสมอแล้ว ยังมีการแจ้งข่าวความเคลื่อนไหวในกระทรวงให้ข้าราชการทั้งหลาย ได้ทราบเป็นระยะ ๆ อันทำให้ผู้อ่าน เป็น พหูสูตอยู่เสมออีกทั้งมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับกระทรวงดังนี้ จึงสมควรขยายกิจการให้กว้างขวางขึ้นและให้พิมพ์ ออกรวดเร็วยิ่งขึ้น ประกอบทั้งขณะนี้ กระทรวงยุติธรรมมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้มีการเผยแพร่วิทยาการแขนงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาพิพากษาคดี นอกเหนือไปจากวิชานิติศาสตร์ เป็นวิชาหลักของข้าราชการกระทรวงนี้ ให้มากยิ่งขึ้น
.
อาศัยเหตุดังกล่าวนี้ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ จึงได้มีคำสั่งจัดตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเป็นหน่วยวิทยาการ ดำเนินการศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่นิติศาสตร์และวิทยาการแขนงอื่น ๆ ดังกล่าวแล้วให้ทันสมัยอยู่เสมอ กรรมการคณะนี้ร่วมอำนวยการหนังสือนิตยสารกระทรวงยุติธรรมอยู่ด้วย ผลที่จักได้คือคณะกรรมการจะได้จัดให้มีการแสดงออกในรูปแบบของปาฐกถา สนทนาหรือบทความ และบทความนั้นก็จะให้นำมาในหนังสือนี้เพื่อเผยแพร่ให้.....ผู้พิพากษาตุลาการต่างๆ ที่อยู่ ห่างไกลโดยทั่วกัน
.
อย่างไรก็ดี หนังสือนี้ใช่ว่าประสงค์จะให้บรรจุแต่บทความของกรรมการหน่วยวิทยาการเท่านั้นก็หาไม่ หากแต่เจ้าหน้าที่มีความยินดีต้อนรับบทความของผู้พิพากษาตุลาการและข้าราชการทั้งหลายที่แสดงหลักวิชาหรือข้อคิดเห็น อีกครั้งวิธีปฏิบัติการ อุปสรรค และข้อประสมในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย
.
นอกจากนี้ก็ยังมีความยินดีต้อนรับบทความทั้งหลายจากท่านผู้เขียนผู้ทรงคุณวิชา ซึ่งอยู่นอกวงราชการของกระทรวงยุติธรรมด้วยเช่นกัน
.
สำหรับข่าวสารการเคลื่อนไหวนั้นจะขยายออกไปนอกวงราชการกระทรวงยุติธรรมด้วยและ ทั้งจะเสนอสถิติตัวเลขที่จะเป็นประโยชน์ในทางต่างๆกัน
.
โดยสรุป หนังสือนิตยสารของกระทรวงยุติธรรมที่ได้ออกในรูปใหม่นับแต่เล่มปฐมฤกษ์นี้ มุ่งประสงค์ไปในทางส่งเสริมวิทยาการความรู้ความเป็นพหูสูตของข้าราชการ ทุกคนในกระทรวงนี้ เพื่อยังให้ทวีขึ้นซึ่งสมรรถนะภาพและประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ และรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพที่ได้ธำรงมาแล้วด้วยดี
.
การที่นำชื่อใหม่มาใช้ว่า “ดุลพาห” ก็โดยเหตุว่า เป็นหนังสือในรูปใหม่แตกต่างจาก “ข่าวศาล” และ “นิตยสารกระทรวงยุติธรรม” ไปในส่วนสาระสำคัญหลายประการ อันเป็นไปในทางดียิ่งขึ้น และก้าวหน้าให้ทันกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ทั้งชื่อใหม่ย่อมจะเป็นเครื่องหมายแสดงถึงระยะเวลาในยุคหนึ่ง ๆ อยู่ด้วย ซึ่งย่อมจะสะดวกและชัดแจ้ง ในการกล่าวอ้างอิงถึงใน ภายหน้า
.
กระทรวงยุติธรรมเชื่อแน่ว่าหนังสือนี้จะอำนวยประโยชน์ให้สมประสงค์ และขอความร่วมมือมายังข้าราชการและกระทรวงนี้ทุกคนให้ร่วมใจกันให้ความสนใจ โดยทั้งอ่านและเขียนและติชม เพื่อความก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไปของทุกฝ่าย
.
สัญญา ธรรมศักดิ์
ปลัดกระทรวงยุติธรรม
30 มีนาคม 2497
(๑) เพื่อเผยแพร่ผลงานวิชาการ และผลการศึกษาวิจัย รวมทั้งความรู้ด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และด้านอื่น ๆ แก่ผู้พิพากษา บุคลากรของศาลยุติธรรม นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงาน นิสิต นักศึกษา รวมทั้งประชาชนผู้สนใจ
(๒) เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนผลงานวิชาการ ปัญหาและแนวทางแก้ไขในทางปฏิบัติระหว่างผู้พิพากษา บุคลากรของศาลยุติธรรม นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงาน นิสิต นักศึกษา รวมทั้งประชาชนผู้สนใจ
(๑) บทความวิชาการ หมายถึง บทความที่เสนอการวิเคราะห์หรือวิจารณ์กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม หรือวิทยาการด้านอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา และบุคลากรศาลยุติธรรม ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ
(๒) บทความวิจัย หมายถึง บทความที่เขียนขึ้นจากงานวิจัยทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อนำเสนอสิ่งที่ค้นพบจากการวิจัยอย่างเป็นระบบ
(๓) วิเคราะห์คำตัดสินศาล หมายถึง งานเขียนวิเคราะห์คำพิพากษาของศาลทั้งในและต่างประเทศ
(๔) ปกิณกะกฎหมาย หมายถึง การนำเสนอประเด็นปัญหาที่น่าสนใจในทางกฎหมาย
(๕) บทแนะนำหรือวิจารณ์หนังสือ หมายถึง งานเขียนแนะนำ วิพากษ์ วิจารณ์ เนื้อหาสาระ คุณค่า และคุณูปการของหนังสือกฎหมาย วิทยานิพนธ์ ดุษฎีนิพนธ์ ที่น่าสนใจ
(๖) บทความปริทัศน์ หมายถึง บทความที่เขียนขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรมวิชาการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องล่าสุด โดยชี้ให้เห็นแนวโน้มที่ควรศึกษาและพัฒนาต่อไป
นิตยสารสำนักงานศาลยุติธรรม ดุลพาห
พัฒนาโดย สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ
เวอร์ชัน 1.5.3